News And Announcements

ผ้าไหมยกดอก คืออะไร

วันที่ 2021-06-07 13:13:25


ผ้าไหมยกดอก


เป็นงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของ ลำพูน ที่มีความงดงามประณีตด้วยฝีมือและเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคนเช่นเดียวกับศิลปวัฒนธรรมอื่นๆของลำพูน อาทิ การแกะสลักลวดลายไม้  การทำหมวก  การทอผ้าไหม ผ้าฝ้าย  การทำกลองหลวง ฯลฯ   อย่างไรก็ตามงานศิลปะที่ชาว ลำพูน ภูมิใจมากที่สุดคือ การทอ ผ้าไหมยกดอก ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของจังหวัดลำพูน

               

ผ้าไหมยกดอก เป็นผ้าชนิดพิเศษที่ทำขึ้นจากเส้นใยของตัวไหม  มีคุณสมบัติพิเศษคือเหนียวคงทนจึงต้านแรงดึงดูดได้สูง เนื้อ ผ้าไหมยกดอก มีความหนาแน่นเป็นเงามันและมีประกายสวยงามไม่นำความร้อนจึงทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกสบายทั้งฤดูร้อนและฤดูหนาว    การยกดอก เป็นเทคนิคการทำลวดลายในการทอซึ่งเกิดจากวิธีการยกและแยกเส้นไหมหรือที่เรียกว่าเส้นไหมยืนยกขึ้นบางเส้นและข่มลงบางเส้น หลังจากนั้นเพิ่มเส้นไหมหรือที่เรียกว่าเส้นไหมพุ่งจำนวน 3 เส้นหรือมากกว่านั้นเข้าไป รวมทั้งการเพิ่มดิ้นเงินดิ้นทองเข้าไปในการทอเพื่อให้ได้ลวดลายและสีสันที่งดงาม 

ขั้นตอนการผลิต


การทอ ผ้าไหมยกดอก

               การทำ ผ้าไหมยกดอก เป็นงานหัตถกรรมที่ต้องอาศัยฝีมือความชำนาญและความเพียรพยายามตั้งแต่การทำเส้นไหมจนถึงการทอสำเร็จเป็นผืนผ้า ซึ่งอาจแบ่งเป็นขั้นตอนต่างๆ ดังนี้


1.การทำเส้นไหม 

เส้นไหมได้มาจากการนำรังของตัวไหมมาปั่นเป็นเส้นใย เส้นไหมนี้มีคุณสมบัติพิเศษที่เด่นหว่าเส้นฝ้ายคือ มีความเหนียวทนทานและมีประกายเงางาม เส้นไหมที่ได้จากการปั่นเมื่อจะนำมาทอเป็น ผ้าไหมยกดอก จะจัดแบ่งเส้นไหมออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 ไหมเส้นยืน จะใช้เส้นไหมควบ4 คือเส้นไหมดิบที่ปั่นด้วยใยไหม 4 เส้นจึงเรียกว่าไหมควบ4 โดยทั่วไปแล้วนิยมใช้ไหมควบ4เป็นไหมเส้นยืนแต่ก็สามารถให้เป็นไหมเส้นพุ่งทำลาย ยกดอกได้ ประเภทที่ 2   ไหมเส้นพุ่ง โดยทั่วไปจะใช้เส้นไหมควบ6  คือเส้นไหมดิบที่ปั่นด้วยใยไหม 6 เส้น สำหรับใช้เป็นไหมพุ่งและทำลายยกดอก ไหมควบ6 นี้ไม่นิยมใช้เป็นไหมเส้นยืน


2.การฟอกไหม

              

 เส้นไหมที่ได้จากการปั่นจะมียางเหนียวคล้ายกาว หรือเซริซิน (Sericin) ติดอยู่กาวนี้ถุกขับอกมาจากตัวไหมโดยธรรมชาติพร้อมๆกับเส้นใยไหมหากปล่อยทิ้งไว้กาวหรือ    เซริซินจะทำให้เส้นใยไหมแข็งหยาบกระด้าง ขาดความเงางาม ดังนั้น จึงต้องมีการนำเส้นไหมที่ปั่นแล้วไปฟอกก่อนที่จะนำมาทอเป็น ผ้าไหม การฟอกไหม นอกจากจะเป็นกรรมวิธีที่จะทำให้กาวที่ติดเส้นไหมหายไปแล้วยังช่วยให้เส้นไหมมีสีคงทนเมื่อนำไปย้อมสี และสีที่ย้อมจะติดทนทาน แต่ถ้าไม่ฟอกเส้นไหมเมื่อย้อมสีจะไม่ติดหรือติดแต่เพียงเคลือบไว้เท่านั้น เมื่อนำผ้าไปซักจะทำให้สีตกและซีดไปในที่สุด นอกจากนั้น การฟอกไหมยังช่วยให้เส้นไหมนิ่มเป็นประกายเงางามยิ่งขึ้นอีกด้วย


หลังจากฟอกไหมเสร็จแล้ว ไหมเส้นยืนจะต้องนำไปใส่ในน้ำแป้งผสมน้ำมันพืช โดยให้มีส่วนผสมของแป้งเพียงเล็กน้อย และแป้งที่นิยมใช้คือแป้งหมี่ ถ้าใช้แป้งชนิดอื่นเส้นไหมจะหัก ส่วนน้ำมันพืชใช้อัตราส่วน ประมาณ 2-3 หยด  ต่อเส้นไหม 1   กิโลกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร   กรรมวิธีนี้จะช่วยให้เส้นไหมลื่นและไม่ติดกัน แล้วจึงนำเส้นไหมขึ้นมาบิดน้ำออก กระตุกให้เหยียดแล้วนำไปตากแห้ง สำหรับเส้นไหมพุ่งไม่นิยมลงแป้ง เพียงแต่บิดเอาน้ำออก กระตุกให้เหยียดแล้วนำไปตากแห้ง


3.การย้อมไหม


การย้อมไหม เป็นกรรมวิธีที่ทำต่อจากการฟอกไหม โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้เส้นไหมที่ฟอกแล้วมีสีสันตามต้องการสามารถนำไปทอเป็นผ้าไหมได้หลากสีและสีสันงดงามเป็นที่ต้องการของตลาด


4.การกรอไหม


การกรอ เส้นไหม เป็นการนำเส้นไหมที่ย้อมแห้งดีแล้วมาปั่นเก็บไว้ อุปกรณ์ประกอบด้วย เครื่องกรอไหม ในกรอขนาดต่างๆหรือจักกวัดไหมและระวิง สิ่งที่ใช้เก็บเส้นไหมที่กรอแล้ว มักจะใช้วัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น กระป๋องหรือหลอดพลาสติก เป็นต้น การกรอเส้นไหมมีวัตถุประสงค์ที่จะแยกเส้นไหมให้ออกเป็นเส้นๆ ไม่ให้ติดหรือพันกัน และเป็นการสำรวจเส้นไหมให้มีความเรียบร้อย ไม่ขาด ซึ่งจะช่วยให้สะดวกในการสาวไหม อันเป็นกรรมวิธีในขั้นตอนต่อไป


5. การสาวไหม


การสาวไหม ในภาษาพื้นเมืองเรียกว่า “การโว้นไหม” หรือ “โว้นหูก” คือการนำ เส้นไหม ยืนที่กรอแล้วไปสางในรางสาวไหมหรือม้าเดินได้ทีละเส้น โดยให้มีจำนวนเส้นไหมครบตามจำนวนช่องฟันหวีที่ต้องการจะใช้ อุปกรณ์ที่ใช้ในการสาวไหมประกอบด้วย ม้าเดินได้ ไม้ไขว้หลัง และหลักตั้งตลอด ในการสาวไหมลงช่องของฟันหวี กำหนดให้ 1 ช่องฟันหวีจะต้องใช้เส้นไหมยืน 2 เส้น ดังนั้นถ้าหากใช้ฟันหวีซึ่งมีช่อง 2000 ช่อง จะต้องนับไหมเส้นยืนให้ครบ 4000 เส้น เป็นต้น สำหรับไม้ไขว้หลังเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการสาวไหม  โดยจะมีไว้ที่รางสาวไหมรางที่ 1 เพื่อให้เส้นไหมเรียงลำดับกันไปตลอด เป็นการป้องกันเส้นไหมพันกัน


6.การเข้าฟันหวีหรือฟืม


ฟันหวี หรือ ฟืม เป็นเครื่องมือใช้สำหรับลางเส้นไหมให้เป็นระเบียบ และมีประโยชน์ในการทอโดยใช้กระทบไหมเส้นพุ่งให้ขยับเข้าขัดกับไหมเส้นยืนหรือสานให้เป็นผืนผ้า ออกมาอย่างสวยงาม อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบด้วย แท่นอัดก๊อปปี้ ม้าหมุน ไม้เขี่ยเส้นไหม ไม้ขนัดสำหรับแยกไขว้ และฟันหวี ฟันหวีแต่เดิมทำด้วยไม้เป็นซี่ๆ โดยมีขอบ ยึดไว้ทั้งข้างบนและข้างล่าง หัวและท้าย เพื่อยึดฟันหวีให้สม่ำเสมอและคงทน แต่การทำฟันหวีด้วยไม้นั้น ช่วงห่างของฟันหวีไม่สม่ำเสมอและโยกได้จึงทำให้ผ้าไหมทอออกมาไม่สม่ำเสมอ ขาดความสวยงามและคุณภาพ ต่อมาได้มีการทำฟันหวีด้วยทองเหลืองจึงทำให้คุณภาพของผ้าที่ทอดีขึ้น แต่ก็ประสบปัญหาคือ เกิดสนิมทองเหลืองติดตามเนื้อผ้าที่ทอออกมาอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะผ้าไหมสีอ่อนๆเช่น สีขาว สีครีม เป็นต้น การใช้ฟันหวีด้วยทองเหลืองจึงเลิกไป ปัจจุบันฟันหวีทำด้วยสแตนเลส ซึ่งมีความงดงามสม่ำเสมอและไม่โยก ไม่มีสนิมทำให้ได้ผ้าทอที่มีความสวยงาม

               

การเข้าฟันหวี หือ การนำไหม เส้นไหมที่สาวแล้วไปเข้าฟันหวี โดยก่อนเข้าฟันหวีนำไหมไปเข้าเครื่องหนีบ เพื่อยึดเส้นไหมด้านหนึ่งเอาไว้ แล้วใส่เส้นไหมลงไปในช่องฟันหวีช่องละ 2 เส้น ดังนั้นในการเข้าฟันหวีจึงต้องใช้คน 2 คน ช่วยกันทำ โดยคนหนึ่งเป็นคนส่งเส้นไหมเข้าช่องอีกคนหนึ่งช่วยดึงฟันหวีให้ห่างและใช้ตะขอเกี่ยวเส้นไหมเข้าช่องฟันหวี ฟันหวีจะช่วยสางเส้นไหมให้เป็นระเบียบและสม่ำเสมอ


7.การเข้าหัวม้วน


การเข้าหัวม้วน คือ การนำเส้นไหมยืนที่สางด้วยฟันหวีเป็นระเบียบดีแล้วไปเข้าหัวม้วน เมื่อม้วนเส้นไหมได้ทุกๆ 5 เมตร จะใช้ทางมะพร้าวสอดกันไว้ 2 – 3 ก้าน     ทำอย่างนี้เรื่อยไปจนกว่าจะหมดการใส่ทางมะพร้าวไปด้วยนี้มีประโยชน์หลายประการ คือ ป้องกันเส้นใยไหมบาดกันเอง  เมื่อไหมขาดจะหารอยต่อได้ง่าย ขณะทอจะทำให้ทราบว่า ทอไปเป็นความยาวเท่าไรแล้ว โดยการนับทางมะพร้าว


8.การทอ


การทอเป็นขั้นตอนสุดท้ายของ ผ้าไหมยกดอก ช่างแรงงานทอส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงและเด็ก ช่างที่มีความคุ้นเคยกับลายก็สามารถทอได้อย่างรวดเร็ว การทอนั้นผู้ที่คัดลายจะเป็นผู้กำหนดให้ผู้ทอว่าให้ทออย่างไร ลักษณะใด ทั้งนี้เพราะผู้ทอไม่สามารถทราบได้ว่า ผ้าไหมยกดอก ที่ตนเองเป็นผู้ทอนั้นมีลวดลายออกมาเป็นอย่างไร   ยกเว้นผู้ทอเป็นผู้คัดลายและดั้นดอกเองเท่านั้น    การทอ ผ้าไหมยกดอก นิยมทอด้วยกี่พื้นเมือง ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้านอย่างหนึ่ง การทอด้วยกี่พื้นเมืองนี้ถ้าดึงเส้นไหมให้พอดี ไม่ตึงเกินไปเนื้อผ้าที่ทอออกมาจะมีความหนาแน่น สม่ำเสมอ มีความสวยงาม ทนทาน  และมีคุณค่าทางศิลปะมากกว่าการทอด้วยเครื่องจักร   ซึ่งจะดึงเส้นไหมให้ตึงเกินไป  ทำให้เนื้อผ้ามีความหนาแน่นสม่ำเสมอ ราบเรียบและขาดคุณค่าทางศิลปะไป



            

 

ข่าวล่าสุดอื่นๆ

News And Announcements

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้นำผ้าไหมยกดอกมาตัดเย็บเป็นชุดประจำชาติเพื่อให้ผืนผ้าอันเป็นเอกลักษณ์ความเป็นไทยนี้สามารถประยุกต์ ใช้ในหลากหลายโอกาส

อ่านเพิ่มเติม
News And Announcements

จุดเฟื่องฟูสูงสุดของ ผ้าไหมยกดอก

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ใน รัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชเสาวนีย์ ให้นำ ผ้าไหมยกดอก มาตัดเย็บเป็นชุดประจำชาติ

อ่านเพิ่มเติม
News And Announcements

น้อมไหว้สา “ดารารัศมีรำฦก” ที่ร้านลำพูนไหมไทย

ฟ้อนถวาย “เจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕”

อ่านเพิ่มเติม